ดอยอะไร ..ไม่เหมือนเดิม ???
เห็นหัวข้อแล้วอย่าเพิ่งสับสน หรือแปลกใจ ... ว่าเอ๊ะ! มันเกี่ยวอะไรกับอาหารและเครื่องดื่ม เกี่ยวจริง ๆ ครับ ..ขอบอก
ไม่ใช่ว่าจะพาไปกินอาหารบนดอย หรือไปเก็บผักจากยอดดอยมาทำอาหาร ... แต่เพราะคำว่า “ดอย” เนี่ย ถูกนำมาใช้เป็นชื่อของ กาแฟแบรนด์ดังทั้งหลาย .. จนแทบจะกลายเป็นเทรนด์ว่า กาแฟอร่อย ต้องมี “ดอย” นำหน้า (จริงเหรอ ???)
ว่ากันที่เรื่องของชื่อซะก่อนว่า กาแฟนั้นมักจะแบ่งประเภท แบ่งชนิดกันไปในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการแบ่งตามสายพันธุ์ เช่น โรบัสต้า หรือ อราบิก้า ... แบ่งตามวิธีหรือลักษณะการชง เช่น Espresso Cappuccino Latte’ หรือ Americano เป็นต้น
ส่วน “ดอย” ต่าง ๆ นั้น ที่เห็นชัด ๆ โดยเฉพาะแบรนด์ดังทางเหนือ .. ถือว่าแบ่งตามสถานที่ปลูก หรือแหล่งที่มาของเมล็ดกาแฟนั้น ๆ .. เช่น กาแฟดอยตุง เมล็ดกาแฟก็มาจากยอดดอยตุง กาแฟดอยช้าง เมล็ดกาแฟก็มาจากดอยช้าง หรือ กาแฟ(ดอย)วาวี ก็มาจากดอยวาวี เป็นต้น หากเปรียบเทียบกับของต่างประเทศ ก็จะคล้ายกับ กาแฟบราซิล กาแฟบลูเมาท์เทน กาแฟชวา กาแฟสุมาตรา ฯลฯ ... ฉะนั้นเราก็อาจจะพอเดา ๆ ได้ว่า กาแฟเหล่านั้นจะมีคุณภาพดีมากน้อยเพียงใด ก็ดูได้จากชื่อ จากแหล่งที่มานั่นเอง
หลังจากที่เกริ่นมาพอควร .. เข้าเรื่องเลยดีกว่า เหตุที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะเกิดความอึดอัด คับข้องใจมานานแล้ว กับประสบการณ์การดื่มและชิมกาแฟร้านต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะร้านที่มีชื่อว่าดอยนำหน้านี่แหละ .... ซึ่งเหตุการณ์ล่าสุดที่เป็นแรงบันดาลใจ ให้เขียนเรื่องจริง(ผ่านจอ) และไม่อิงนิยาย (แต่อิงประสบการณ์) ก็คือ การได้ลองชิมกาแฟดอย(ตัวใหญ่ๆ)...ไม่ขอเอ่ยนาม เมื่อวันหยุดที่ผ่านมา จาก 2 ร้าน 2 สถานที่ ในเมนูเดียวกัน ราคาเท่ากัน แต่รสชาดไม่เหมือนกัน
เชื่อแน่นอนว่า คอกาแฟทั้งพันธุ์แท้ และพันธุ์เทียม ... ผู้ที่หลงไหลการดื่มกาแฟ หรือผู้ที่หลงไหลเพียงโลโก้ของกาแฟ อาจจะรู้สึกหมายมั่นปั้นมือ หรือ “คาดหวัง” ว่า กาแฟแบรนด์เนมทั้งหลาย จะอร่อยสมราคา(แพง) หรืออร่อยสมคำร่ำลือ
แต่จากประสบการณ์มันสอนผมว่า “กาแฟดีไม่จำเป็นต้องแพง ... และกาแฟที่แพง ก็อาจจะไม่ดีเสมอไป” เพราะคำว่า “ดี” ของผม มันไม่ได้หมายความแค่เรื่องของความดัง ความแพง หรือคุณภาพของกาแฟเท่านั้น แต่คำว่า “ดี” ของผม หรือของใครหลาย ๆ คน มันหมายความถึง ความพึงพอใจ .. ทั้งในรสชาด ราคา มาตรฐาน บรรยากาศ บาริสต้าสวย ..ฯลฯ
(ข้อหลังนี่เป็นความชอบส่วนตัว 55)
กลับมาเล่าต่อ ว่าเกิดอะไรขึ้น .. กาแฟแก้วแรก เป็น Cappuccino เย็นขนาด 16 Oz. ราคา 65 บาท ซื้อจากร้านแถวบ้านที่มีโลโก้ “ดอย.....” เพื่อเป็นการยืนยันว่าร้านชั้นใช้เมล็ดกาแฟคุณภาพดีนะ ... สังเกตจากเครื่องชง หลักสามหมื่นกว่า ๆ
การแพ็คกาแฟก็ดูใช้ได้ แต่ Crema ไม่ค่อยงาม หน้าตาคนขายไม่สวยแต่ยิ้มแย้มแจ่มใสดี (อันนี้มีผล) ข้อหลังนี้สื่อถึงความสุขในการทำกาแฟนะครับ ไม่ใช่แค่เรื่องภายนอกอย่างเดียว หลายท่านคงเห็นด้วย ..เพราะอาจเคยกิน “กาแฟหน้าบูด” หรือ “กาแฟหน้างอ” กันมาบ้าง
ประมวลผลเสร็จสรรพ ได้ Cappuccino เย็นที่ต้องการมา 1 แก้ว(กระดาษ ฝาโดม) ดูดคำแรก โอ้วพระเจ้า ... “กาแฟห่......ไรมันเปรี้ยวอย่างนี้วะ” ขอบอกว่า ผิดหวังอีกแล้วกับกาแฟดอยนี้ ... ทิ้งไป 65 บาท
อีกวันถัดมา ได้ออกไปทางอำเภอรอบนอก แล้วเกิดอยากเติมคาเฟอีนให้ร่างกาย ...นึกขึ้นได้ว่า มีกาแฟ ดอยเดิม อยู่บนทางผ่าน ก็เลยแวะซื้อ เมนูเดิม Cappuccino เย็นขนาด 16 Oz. ราคา 65 บาท เหมือนกันเป๊ะ .. แต่คราวนี้ มาเป็นแก้วพลาสติกใส สกรีนยี่ห้อ พร้อมฝาโดม และโฟมนมซินนาม่อน .. จากคำบอกเล่าของคนที่ลงไปซื้อ คือ ภรรยา .. ว่ากาแฟนี้น่าจะมาจากเครื่องชงราคาหลักแสน (จากการคาดเดา) ... หรือจะหลักอะไรก็ช่าง .. ซึ่งแว่บแรกที่ผมดูด (ยังไม่รู้ราคาของเครื่อง..เดี๋ยวจะหาว่าอุปทาน) รสชาดมันดีกว่าแก้วเมื่อวานมาก ๆ แต่ผมก็ยังไม่รู้สึกประทับใจอยู่ดี เพราะจากสัมผัสรสชาด และกลิ่น ผมว่ามันยัง “ไม่ถึง” ... ส่วนตัวขอให้แค่ 6 เต็ม 10
ทั้งหมดทั้งมวลที่พูดถึง ...ตั้งใจสรุปได้ว่า กาแฟที่ดี หรือกาแฟที่อร่อย ๆ สักแก้วนั้น มันเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยมาก ๆ ... ตั้งแต่ต้นกระบวนการ นั่นคือ วิธีการปลูก สถานที่ปลูก ปัจจัยอะไรต่าง ๆ มากมาย .... จนมาถึงขั้นตอนสุดท้ายที่ร้าน เครื่องชง ส่วนผสม การบด การอัดกาแฟ คนชง บรรยากาศ บรรจุภัณฑ์ มาตรฐาน ... จุกจิกจิปาถะ จนได้กาแฟแก้วที่วางตรงหน้าท่าน มันละเอียดทุกขั้นตอน ... จึงอยากจะเป็นอุทาหรณ์ให้คนที่คิดจะเปิดร้านกาแฟ ว่าต้องละเอียด คิดและใส่ใจให้ครบทุกขั้นตอนเช่นกัน มันไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สำเร็จรูปเหมือนกาแฟ 3 in 1 .. หรือไม่ได้สวยหรู ดูดี เหมือนซีรีส์เกาหลีเรื่อง Coffee Prince
สำหรับคนที่เป็นผู้ซื้อ ผู้ชิม ผู้ควักเงินออกจากกระเป๋า ... เพื่อแลกกับ “สุนทรียของกาแฟ” ก็อย่าได้หลงเชื่อ.. ตามกระแส หรือคาดหวังอะไรกับ “กาแฟมีแบรนด์” .. หรือกาแฟราคาแพง ว่ามันจะอร่อยล้ำเลิศ หรือว่ามีมาตรฐานเหมือนกันหมด (ขนาดคนยังมีสองมาตรฐานเลย 55) ... กาแฟร้านเดียวกัน คนชงคนละคน บางทีก็ไม่เหมือนกันแล้ว .. แล้วจะคาดหวังอะไรกับกาแฟยี่ห้อเดียวกันแต่คนละสาขา ... ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณจะจ่ายตังค์เพื่อแลกหรือเสพความพึงพอใจในเรื่องอื่น ๆ ... เช่น ถือแก้วกาแฟหรูช่วยเสริมให้ดูดี มีสง่าราศี ติดใจสถานที่ บรรยากาศ ความเป็นกันเอง หรือแม้กระทั่งมีปลั๊กไฟให้ใช้ฟรี ก็อีกเรื่อง ... อันนั้นไม่ว่ากัน และก็ใช่ว่ากาแฟชื่อดัง ที่มีหลายสาขาจะไม่มีมาตรฐานเลย ก็ไม่ใช่ ... ไว้โอกาสหน้า ผมจะพาไปรีวิวร้านกาแฟที่มีสาขา .. และมีมาตรฐานเดียวกัน กาแฟเหมือนกัน คนชงคนละคน คนละสาขา ... แต่รสชาดเหมือนกัน ??? ทิ้งไว้เป็นปริศนาตรงนี้ เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว หลายท่านคงตอบคำถามได้ว่า
“ดอยอะไร .. ไม่เหมือนเดิม” ??? คำตอบ ......................(เติมเอาเอง) สวัสดีครับ